วันวิสาขบูชา :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน เป็นวันที่มีการทำพิธีพุทธบูชา และน้อมนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์ชาติและสรรพสัตว์ทั้งปวง อีกทั้งเพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์อันน่าอัศจรรย์ทั้ง 3 ประการ ที่บังเกิดขึ้นพ้องในวันเดียวกัน คือ วันประสูติ วันตรัสรู้ และวันปรินิพพาน ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 หรือราวเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศอาจกำหนดวันวิสาขบูชาไม่ตรงกับของไทย เนื่องด้วยประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไปตามเวลาของประเทศนั้นๆ เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 3 เหตุการณ์ ซึ่งบังเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 เหมือนกันอย่างน่าอัศจรรย์ แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันเป็นเวลาหลายสิบปี เหตุการณ์อัศจรรย์ 3 ประการนั้น ได้แก่

1. วันประสูติ

เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ พระนางเสเด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อประสูติในตระกูลของพระนางตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"

ข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบส ผู้อาศัยอยู่ในอาศรมเชิงเขาหิมาลัย และมีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทางไปเข้าเฝ้า เมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า นี่คือผู้จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงกล่าวพยากรณ์ว่า "พระราชกุมารนี้จักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เห็นแจ้งพระนิพพานอันบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทรงหวังประโยชน์แก่ชนเป็นอันมาก จะประกาศธรรมจักร พรหมจรรย์ของพระกุมารนี้จักแพร่หลาย" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกอัศจรรย์และเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมารตามอย่างดาบส ต่อมาพระเจ้าสุทโธทนะทรงคัดเลือกพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในไตรเพทประเสริฐกว่าพราหมณ์ทั้งปวง 8 คน มาทำนายลักษณะของพระโอรส พราหมณ์ 7 คนทำนายว่า พระโอรสนี้หากเสวยราชสมบัติจักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ หากเสด็จออกบวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เว้นแต่โกณทัญญพราหมณ์ซึ่งเป็นพราหมณ์ที่อายุน้อยที่สุด ที่ทำนายว่า “พระราชกุมารบริบูรณ์ด้วยพระมหาบุรุษพุทธลักษณ์โดยส่วนเดียว จะอยู่ครองฆราวาสวิสัยมิได้ จะเสด็จออกบรรพชา และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยแท้”

2. วันตรัสรู้

พระเจ้าสุทโธทนะทรงปรารถนาจะให้เจ้าชายสิทธัตถะปกครองแว่นแคว้นสืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์ และเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จึงทรงบำรุงบำเรอเจ้าชายให้มีแต่ความสุขความบริบูรณ์ในปราสาท 3 ฤดู และแวดล้อมด้วยเหล่าสนมกำนัลที่สวยงาม ทรงป้องกันไม่ให้เจ้าชายสิทธัตถะเห็นความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดต่างๆที่จะทำให้เจ้าชายสิทธัตถะทรงรู้สึกเบื่อหน่าย และอยากออกบวช ชีวิตของเจ้าชายสิทธัตถะก่อนทรงออกบวช จึงเป็นชีวิตที่เพียบพร้อมด้วย รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ บริวารสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อย่างแท้จริง

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงพระชนมายุได้ 29 พรรษา วันหนึ่งได้ทรงรถม้าประพาสสวนนอกเมือง ทรงเห็นคนแก่ คนป่วย คนตาย และนักบวช ภาพคนแก่ คนป่วย และคนตายทำให้พระองค์ทรงนึกถึงความทุกข์ และความไม่เที่ยงแท้ของสังขารมนุษย์ ส่วนภาพนักบวช คือ ภาพของผู้แสวงหาทางแห่งการพ้นทุกข์ คือ ความแก่, ความเจ็บ และความตายนั้น ทำให้ทรงรู้สึกประทับใจในเพศภาวะของนักบวช และปรารถนาอยากออกบวชในสักวันหนึ่ง ต่อมาพระชายา คือ พระนางยโสธราพิมพา ประสูติพระโอรส เมื่อทรงทราบจึงทรงรำพึงว่า “บ่วงเกิดขึ้นแล้ว” ด้วยเหตุนี้ พระโอรสจึงได้พระนามว่า “ราหุล” ซึ่งแปลว่า “บ่วง” ทรงดำริว่า “หากไม่ออกบวชเสียในวันนี้ ความรักและความผูกพันที่มีต่อพระชายาและพระโอรส จะไม่สามารถทำให้พระองค์องค์ตัดใจออกบวชได้ในอนาคต” จึงตัดพระทัยเสด็จออกบวชเสียในคืนนั้นเพื่อแสวงหาโมกขธรรม

หลังจากเสด็จออกบวช ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง 6 ปี จนเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ โคนไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี โดยในปฐมยาม ทรงบรรลุปุพเพนิวาสานุสติญาณ สามารถระลึกชาติที่พระองค์ทรงบังเกิดมาแล้วทั้งสิ้นได้ ในมัชฌิมยาม ทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ บางแห่งเรียกว่า ทิพพจักษุ สามารถหยั่งรู้การเกิด การตาย ตลอดจนการเวียนว่ายของสัตว์ทั้งหลายอื่นได้หมด ในปัจฉิมยาม ทรงบรรลุอาสวักขยญาณ ทรงปรีชาสามารถทำอาสวะกิเลสทั้งหลายให้หมดสิ้นไปด้วยพระปัญญา พิจารณาในปัจจยาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยอนุโลมและปฏิโลม ก็ทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า “พุทธคยา” เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

3. วันเสด็จดับขันธปรินิพพาน

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 ทรงประทับ ณ สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในยามสุดท้ายของคืนนั้น ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่น ให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" แล้วเสด็จเข้าดับขันธปรินิพพาน ในราตรีเพ็ญเดือน 6 นั้น สถานที่ดับขันธปรินิพาน ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

 

ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชา ในประเทศไทย

ปรากฏหลักฐานว่า "วันวิสาขบูชา" เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกาพระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา สมัยนั้นกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด มีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย มีบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปความได้ว่า

“...เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์...”

หลังจากสมัยสุโขทัย ประเทศไทยได้รับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์มากขึ้น ทำให้ในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการประกอบพิธีวิสาขบูชา จนกระทั่งมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ.2360) ทรงดำริกับสมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาขึ้นใหม่ โดยสมเด็จพระสังฆราชถวายพระพรให้ทรงจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันขึ้น 14 ค่ำ, 15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2360 และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อให้ประชาชนได้บำเพ็ญกุศลและประพฤติธรรมปฏิบัติธรรมโดยทั่วหน้ากัน การรื้อฟื้นพิธีวิสาขบูชาขึ้นมาในครั้งนี้ จึงถือเป็นแบบอย่างที่ถือปฏิบัติในการประกอบพิธีวันวิสาขบูชา ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย ได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา พ.ศ.2500 ซึ่งทางราชการเรียกว่างาน “ฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 18 พฤษภาคม รวม 7 วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการและวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล 5 หรือศีล 8 ตามศรัทธาตลอดเวลา 7 วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม 2,500 รูป ประชาชนงดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ 12 ถึง 14 พฤษภาคม รวม 3 วัน มีการก่อสร้างพุทธมณฑล จัดภัตตาหารเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ 2,500 รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ 200,000 คน เป็นเวลา 3 วัน ออกกฎหมายสงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์และจับสัตว์ในบริเวณวัดและหน้าวัดด้วย มีการปฏิบัติธรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน หน่วยงานราชการและเอกชน ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ร่วมกันจัดงานเป็นกรณีพิเศษ พุทธศาสนิกชนได้บำเพ็ญบุญกุศล ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ฟังธรรม สนทนาธรรม และเวียนเทียน เป็นที่ประทับใจยิ่งนัก

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ

ในวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า “Vesak Day” ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา (ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา) และได้กำหนดวันวิสาขบูชา ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา เพื่อรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อมวลสรรพสัตว์

การที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ ทรงเปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนด้วยพระปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน

รับชมวิดีโอ วิสาขบูชา "วันสำคัญสากลโลก"

วิดีโอที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้