ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

ความเป็นมาของวันเข้าพรรษา

ในเรื่องความเป็นมาของการเข้าพรรษา ถ้าว่ากันตามประวัติย่อๆ คือ ในยุคต้นพุทธกาลยังไม่มีการเข้าพรรษา เพราะฉะนั้นตลอดทั้งปี เมื่อพระภิกษุมีความเห็นว่า ท่านควรจะไปเทศน์ไปสอนญาติโยมที่ไหนได้ เมื่อท่านพอจะมีเวลา ท่านก็จะไป หรือแม้ไม่ได้ไปเทศน์ไปสอนใคร ถ้าเห็นว่าที่ไหนเงียบสงัดดี เหมาะในการที่จะไปบำเพ็ญภาวนา ทำสมาธิ ท่านก็จะไป ซึ่งแน่นอนว่าส่วนมากก็จะอยู่ในเขตที่เป็นป่าเป็นเขา ห่างไกลออกไปจากตัวเมือง บ้างก็ต้องเดินผ่านไปในชนบท เนื่องจากในฤดูฝน ชาวบ้านต่างทำไร่ทำนากันอยู่ จากการที่ท่านต้องไปอย่างนี้ บางครั้งข้าวกล้าของพวกเขาก็เพิ่งหว่านไปในนา มันเพิ่งจะงอกออกมาใหม่ๆ บางทีก็ดูเหมือนหญ้า พระภิกษุเดินผ่านไปนึกว่าเป็นดงหญ้า จึงกลายเป็นเดินไปย่ำข้าวกล้าของชาวบ้านไปเสีย ซึ่งทำให้พวกเขาเดือดร้อน ชาวบ้านเหล่านั้นจึงพากันมาฟ้องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระภิกษุไปย่ำข้าวที่พวกเขาปลูกเอาไว้ แม้นกกาในช่วงฤดูฝนยังอยู่กับรัง ทำไมพระภิกษุจึงไม่พักบ้าง

เพื่อตัดปัญหานี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดว่า เมื่อถึงช่วงเข้าพรรษา (ฤดูฝน) ให้พระภิกษุอยู่กับที่ กล่าวคือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ให้พระภิกษุอยู่เป็นที่เป็นทาง ไม่เดินทางไปทำภาวนาที่ไหน ไม่ไปเทศน์โปรดใครที่ไหน หากใครต้องการให้โปรดก็ให้มาที่วัด ให้เขามาหาท่าน ไม่ใช่ให้ท่านไปหาเขา แต่อีกมุมมองหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงถือโอกาสนี้ เปลี่ยนคำครหาให้กลายเป็นโอกาสดีของพระภิกษุ กล่าวคือ การกำหนดให้พระภิกษุอยู่เป็นที่ในวัดวาอาราม ก็เพื่อที่จะให้พระใหม่ได้รับการอบรมจากพระเก่าได้เต็มที่ เพราะว่าในความเป็นจริงแล้ว ในการอบรมถ่ายทอดธรรมะ, ถ่ายทอดธรรมวินัยให้แก่กันและกันนั้น ถ้าทำเป็นที่เป็นทางอย่างต่อเนื่องกันทุกวันเช่นนี้ จะเป็นการดี การศึกษาธรรมะอย่างต่อเนื่องมีผลดี เพราะฉะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้พระภิกษุอยู่กับที่ในช่วงเข้าพรรษา พระใหม่ก็จะได้ศึกษาหรือรับการถ่ายทอดธรรมะจากพระเก่า ส่วนพระเก่านอกจากจะทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์สอนพระใหม่แล้ว ท่านยังกำหนดแผนการว่า เมื่อออกพรรษาแล้วควรจะเดินทางไปโปรดที่ไหน, วางแผนปรับปรุงหลักสูตรวิธีการเทศน์, การสอน, การอบรมให้เหมาะกับท้องถิ่น ให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป เป็นต้น ดังนั้น การเข้าพรรษา จึงเป็นการดีทั้งชาวบ้าน ดีทั้งพระเก่า พระใหม่ ไปในตัว อย่างที่กล่าวมาแล้ว

ชาวไทยนิยมบวชกันในช่วงเข้าพรรษา

สำหรับกิจวัตรของพระภิกษุในฤดูเข้าพรรษานั้น ความจริงแล้วก็เป็นทำนองเดียวกันกับช่วงออกพรรษา เพียงแต่ว่าเมื่อพระภิกษุไม่ได้ออกไปนอกพื้นที่ ตัวท่านเองก็มีโอกาสที่จะเจริญสมาธิภาวนา มีโอกาสที่จะปรับปรุงหลักสูตรการเทศน์การสอนของท่าน มีโอกาสที่จะค้นคว้าพระไตรปิฎกให้ยิ่งๆขึ้นไป นี้เป็นกิจวัตรในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเราไปตามวัดต่างๆ จะเห็นว่าในฤดูเข้าพรรษานี้ ชาวไทยนิยมบวชกัน ไม่ว่าจะบวชชั่วคราวเพียงช่วงเข้าพรรษาก็ตาม หรือจะบวชระยะยาวก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ในเมื่อถึงฤดูเข้าพรรษาแล้ว พระเก่า พระใหม่ ต้องอยู่ที่เดียวกัน พระเก่าก็จะทำหน้าที่เป็นครูบาอาจารย์ ใครถนัดวิชาไหนก็มาสอนวิชานั้นให้แก่พระภิกษุใหม่ ใครถนัดพระวินัยก็สอนพระวินัย ใครถนัดสอนธรรมะก็สอนธรรมะ ใครถนัดสอนพุทธประวัติก็สอนพุทธประวัติ เป็นต้น พูดง่ายๆว่า “ฤดูเข้าพรรษาจึงกลายเป็นฤดูติวเข้ม” หรือถ้าจะพูดให้เป็นสากลก็ต้องบอกว่า “ฤดูเข้าพรรษานี้ ที่แท้แล้วเป็น Moral Training Camp (ค่ายฝึกอบรมคุณธรรม) ของพระภิกษุนั่นเอง” กิจวัตรอื่นใดของพระภิกษุในช่วงเข้าพรรษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ไปโปรดญาติโยม ได้งดไปแล้ว จึงเหลือแต่เรื่องของการศึกษาเป็นหลัก ค้นคว้าพระไตรปิฎกเป็นหลัก เสร็จจากการค้นคว้าก็ไปนั่งสมาธิภาวนา ซึ่งเป็นเรื่องของการค้นคว้าภายใน หรือเรียกว่า “พระไตรปิฎกในตัว” พระไตรปิฎกนอกตัวก็อยู่เป็นเล่มๆ แต่การค้นคว้าพระไตรปิฎกในตัว คือ “การทำสมาธิภาวนา”

การค้นคว้าพระไตรปิฎกในตัว คือ “การทำสมาธิภาวนา”

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพระใหม่มาอยู่ในวัดกันพร้อมหน้าพร้อมตา โยมพ่อ โยมแม่ ญาติพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูงของพระใหม่ ต่างก็จะมาร่วมทำบุญที่วัดเพื่อมาพบพระลูก, พระหลาน, พระเพื่อน ถึงแม้ว่าพระใหม่ยังเทศน์ไม่เป็น เพราะเพิ่งจะบวช แต่เมื่อมาแล้วก็ได้พบพระครูบาอาจารย์ พระผู้ใหญ่ บรรดาญาติโยมเหล่านี้จึงมีโอกาสฟังเทศน์จากพระผู้ใหญ่ จึงกลายเป็นฤดูแห่งการศึกษาธรรมะไปด้วยในตัว ทั้งของพระ ทั้งของญาติโยม นี้คือเรื่องราวของการเข้าพรรษาในยุคปัจจุบัน

ช่วงเข้าพรรษา คือ ฤดูแห่งการศึกษาธรรมะไปด้วยในตัว ทั้งของพระ ทั้งของญาติโยม

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเข้าพรรษา

การเข้าพรรษาของพระภิกษุ

การเข้าพรรษาตามพระวินัย มี 2 ประเภท กล่าวคือ

ปุริมพรรษา คือ การเข้าเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (สำหรับในปีอธิกมาส หมายถึง ปีที่มีเดือน 8 สองหน จะเริ่มในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง) จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ภายหลังจากออกพรรษาแล้ว พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน มีสิทธิที่จะรับกฐิน ซึ่งมีช่วงเวลาเพียง 1 เดือน (นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12)

ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้สำหรับกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกล หรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรก (ปุริมพรรษา) ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 และจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจะไม่มีโอกาสได้รับกฐิน เนื่องจากช่วงเวลากฐินหมดไปแล้ว แต่จะได้พรรษาเช่นเดียวกับพระภิกษุที่เข้าปุริมพรรษา

ประวัติวันเข้าพรรษา

อ้างอิง:

  • เรียบเรียงจาก รายการหลวงพ่อตอบปัญหา (ออกอากาศทาง DMC)
  • พระธรรมเทศนา โดย หลวงพ่อทัตตชีโว

บทความที่เกี่ยวข้อง:

บทความอื่นๆในหมวดนี้