วันมหาปวารณา :: Dhammakaya Foundation & Wat Phra Dhammakaya : World Peace through Inner Peace using Meditation Practice  

 

วันมหาปวารณา

วันมหาปวารณา

ขุมทรัพย์ของบัณฑิต

จิตใจที่งดงามเปรียบดั่งอัญมณีที่เลอค่า พิสูจน์ได้จากการถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดและการกระทำ นี้เป็นผลจากคุณธรรมความดีที่สั่งสมหล่อหลอมจนเป็นคุณสมบัติที่ดีของบัณฑิต และบัณฑิตจะคิดดี พูดดี ทำดีเป็นปกติสม่ำเสมอ ทำให้เป็นผู้ที่น่าเคารพยกย่องเทิดทูนบูชา น่าเข้าใกล้เพื่อขอคำแนะนำในการประพฤติดีปฏิบัติชอบ

บัณฑิตในกาลก่อนเห็นความสำคัญของการแนะนำตักเตือนว่า เป็นเสมือนหนึ่งการชี้ขุมทรัพย์ บอกทางอันประเสริฐให้แก่ผู้ที่บกพร่องหรือประมาทให้หันกลับเข้าสู่เส้นทางธรรมที่ถูกต้อง

มีเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการชี้ขุมทรัพย์อันเป็นอริยประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานกว่า 2,500 ปีตั้งแต่สมัยพุทธกาล ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้น ประเพณีนี้ทำกันในวันมหาปวารณา อันเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา

วันมหาปวารณา และความหมาย

คำว่า ปวารณา แปลว่า ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน หมายถึง การที่ภิกษุเปิดโอกาสให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ และพิธีปวารณาเป็นประเพณีที่พระภิกษุจะต้องทำร่วมกันเพื่อเป็นกัลยาณมิตรให้กันและกัน ซึ่งจะทำกันในวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา คือ วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งโดยปกติทุกปี ตามพุทธบัญญัติ พระภิกษุต้องอยู่จำพรรษา 3 เดือน เพื่อทบทวน พระธรรมวินัย และปฏิบัติธรรมร่วมกัน เริ่มตั้งแต่วันเข้าพรรษาในวันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันออกพรรษาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือเรียกอีกอย่างว่า “วันมหาปวารณา”

พระธรรมวินัย ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เป็นเสมือนกฎกติกาในหมู่สงฆ์ เพื่อฝึกฝนอบรมตนเองทุกรูปแบบตามพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา และอีกบทบาทหนึ่งของพระภิกษุ คือ เป็นต้นบุญต้นแบบในฐานะเนื้อนาบุญและครูสอนศีลธรรมให้แก่ชาวโลก

เหตุที่พระภิกษุตั้งใจออกบวช ก็เนื่องจากเป็นผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เห็นการเวียนว่ายตายเกิดเป็นทุกข์ เห็นว่ากิเลสอาสวะเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย จึงมีความปรารถนาที่จะขจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะตระหนักว่าเส้นทางชีวิตสมณะที่บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นหนทางยาวไกล แต่ต่างก็มีกุศลศรัทธาสมัครใจสั่งสมคุณธรรมความดี

การดำรงเพศบรรพชิต ให้ได้ตลอดรอดฝั่งจึงจำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรคอยชี้แนะประคับประคองไปจนกว่าจะขจัดกิเลสในตัวให้หมดสิ้น บรรลุเป้าหมาย คือ พระนิพพาน

หลักการปวารณา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแนวทางไว้ คือ หากได้ยิน ได้เห็น หรือสงสัยว่า เพื่อนสหธรรมิกท่านใดปฏิบัติข้อวัตรที่ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ซึ่งจะเป็นเหตุให้ห่างไกลจากพระนิพพาน ก็ให้อาศัยจิตที่ประกอบด้วยความเมตตาปรารถนาดี เป็นกัลยาณมิตรแนะนำตักเตือนให้กันและกัน ผู้รับฟังพึงน้อมรับคำแนะนำด้วยจิตใจชื่นบานปลื้มปีติยินดี ตั้งใจแก้ไขปรับปรุงตนเองด้วยความเต็มใจ เสมือนเพื่อนสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตรนั้นได้ชี้ขุมทรัพย์อันประเสริฐให้กับผู้ที่ยังขัดสนอยู่

วันมหาปวารณา คือ การเริ่มต้นตั้งหลักทำความดีใหม่ เนื่องจากปุถุชนที่อินทรีย์ยังอ่อน ย่อมขาดตกบกพร่องเป็นธรรมดา เด็กๆเมื่อเริ่มหัดเดิน ย่อมจะต้องล้มลุกคลุกคลาน ล้มแล้วมีคุณพ่อคุณแม่หรือพี่เลี้ยงคอยประคับประคองให้ยืนขึ้น จนในที่สุดก็สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ฉันใด บนเส้นทางธรรม พระภิกษุก็อาศัยสหธรรมิกผู้เป็นกัลยาณมิตร ประคับประคองให้ยืนขึ้นอย่างอาจหาญด้วยความปีติยินดีเยี่ยงบัณฑิต ฉันนั้น

ธรรมเนียมปฏิบัตินี้เป็นประเพณีที่สูงส่งดีงาม เป็นสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปรับมุมมองความคิดเพื่อไม่ให้เกิดความขุ่นมัว ให้อภัยไม่ถือสา รู้ซึ้งเข้าใจถึงความปรารถนาดีของเพื่อนสหธรรมิก จะเห็นได้ว่าการปวารณานั้นเกื้อกูลประโยชน์ต่อพระภิกษุทุกรูปและต่อหมู่สงฆ์ เนื่องจากเมื่อพระภิกษุรูปใดก็ตามปรับปรุงตนเองให้สมบูรณ์ขึ้นจนกระทั่งเข้าถึงจุดสมบูรณ์ของชีวิตสมณะ ย่อมเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อปฏิบัติถูกต้องเป็นหมู่คณะ ก็จะเป็นหมู่คณะที่งดงาม เป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่มหาชนสืบไป

บทความอื่นๆในหมวดนี้